Force Convection System (ระบบการพาความร้อนแบบบังคับ)

เป็นระบบที่นำเอาหลักการ พาความร้อนแบบบังคับ มาใช้ในเตาอบกระจกเทมเปอร์ ซึ่งการพาความร้อนแบบบังคับนี้ จะต้องมีของไหลทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ในการส่งผ่านความร้อนจากจุดที่มีอุณหภูมิสูง ผ่านโมเลกุลของของไหล ไปสู่จุดที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า โดยมีอุปกรณ์ช่วยให้เกิดแรง หรือการไหลจากภายนอก เช่น ปั้ม หรือพัดลม ซึ่งForce Convection System จะช่วยให้การส่งผ่านความร้อน โดยการแผ่รังสี Radiation จากขดลวดความร้อน (Heater) มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะของไหลหรืออากาศ ทำหน้าที่พาความร้อนจากขดลวด Heater ลงสู่ผิวกระจกเพิ่มจากการแผ่รังสีอีกทางหนึ่ง และอากาศที่ถูกปั้มเข้าสู่เตาอบ ก็ไม่ได้ถูกปล่อยออกสู่ภายนอก ให้เกิดการสูญเสียความร้อน แต่จะคงหมุนวนอยู่ภายในเตาอบ ช่วยให้การส่งผ่านความร้อนสู่ผิวกระจก ทำได้อย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอมากขึ้น ทำให้กระจกเทมเปอร์ ที่ผลิตจากระบบนี้ มีคุณสมบัติดีเยี่ยม คือมีความแข็งแกร่งทั่วทั้งแผ่น ผิวกระจกเรียบเสมอไม่เกิดการโก่ง หรือคลื่นหลอกตา อีกทั้งเป็นระบบที่ลดการใช้พลังงาน ในการผลิตกระจกเทมเปอร์ Low-E ดังนั้น Force Convection System จึงเป็นนวัตกรรมสำหรับการผลิตกระจกเทมเปอร์ แห่งอนาคตอย่างแท้จริง

ข้อมูลการรับแรงลม

กระจกภายนอก

ในการพิจารณาเลือกใช้กระจกอาคาร จะต้องคำนึงถึงการใช้งาน เพื่อเลือกพิจารณาคุณสมบัติของกระจกที่เหมาะสมได้ เพราะทุกงานนอกจากความสวยงามทันสมัย แต่ยังต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ด้วย ลักษณะการใช้งานแบ่งได้เป็น กระจกภายนอกและกระจกภายในอาคาร ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.งานประตูหน้าต่าง (Door & Windows) ที่ใช้กับงานภายนอกอาคาร ชนิดและความหนากระจกที่ใช้ ขึ้นอยู่กับขนาดของชิ้นงาน การรับแรงลม และวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เช่น กระจกประตูบานเปลือย ควรใช้กระจกเทมเปอร์ หนา 12 มม. หรือกระจกประตูบานเลื่อน บานเปิด ที่มีขนาด 2.50 x 1.10 เมตร ขึ้นไป ควรใช้เป็นกระจกลามิเนต ความหนาไม่ต่ำกว่า 10 มม. (5mm.+0.76PVB+5mm.) แต่ถ้าต้องการกันเสียงก็ใช้กระจกสุญญากาศ

2. ผนังกระจก Curtain Wall งานประเภทนี้ กระจกที่ใช้ควรเป็นกระจกที่มีความปลอดภัย และกันความร้อนเข้าตัวอาคาร เช่น กระจกลามิเนต Low-E เพราะผนังกระจกเป็นงานที่อยู่ชิดขอบตัวอาคาร ถ้ากระจกแตกก็จะร่วงลงพื้น ดังนั้น กระจกที่เหมาะสมจะใช้ อย่างน้อยควรเป็นกระจกลามิเนต และหากผนังกระจกมีขนาด 2.5×1.50 เมตร ควรใช้กระจกที่มีความหนาไม่ต่ำกว่า 12 มม. (6 mm.+0.76PVB +6 mm.)

3. ผนังกระจก (Facade) เป็นงานที่ต้องการความทันสมัยดูโปร่ง ไม่มีอะไรมาบดบังทัศนวิสัย ภายในและภายนอกตัวอาคาร และกระจกที่ใช้ต้องเป็นแบบที่มีความแข็งแรงกว่ากระจกธรรมดา เช่น กระจกเทมเปอร์ เนื่องจากผนังกระจกประเภทนี้ เป็นแบบกระจกเปลือยยึดด้วยอุปกรณ์ Spider Fitting ดังนั้น จึงควรใช้กระจกเทมเปอร์ลามิเนต ขนาด 2.5 x 1.50 เมตร หนา 12 มม. (6 mm. TP+1.52 PVB+ 6mm.TP) และความสูงของแผงไม่ควรเกิน 15 เมตร

4. กระจก Skylight เป็นแผงกระจกที่ใช้แทนตัวหลังคา ดังนั้นกระจกที่จะใช้จะต้องมีความปลอดภัยสูง เช่น กระจกลามิเนต ขนาด 1.20 x 2.0 เมตร ความหนาประมาณ 12 มม. มม. (6 mm. TP+1.52 PVB+ 6mm.TP)   โดยมีกรอบเฟรมรับทั้งสี่ด้าน เพื่อที่เวลากระจกแตกจะไม่ร่วงลงมาด้านล่าง

กระจกภายใน

1.ผนังกั้นห้อง (Partition) เป็นบริเวณที่มีผู้คนพลุกพล่าน ทำให้งานประเภทนี้ต้องการความปลอดภัย ดังนั้น กระจกที่ใช้ควรเป็นกระจกลามิเนต ความหนา 12 มม. มม. (6 mm.+ 0.76 PVB+ 6mm.)ใช้กระจกขนาดประมาณ 1.50 x 2.50 เมตร

2. ราวกันตก (Balustrade) เป็นงานที่ใช้บริเวณบันได หรือราวกั้นในบริเวณช่องโล่งในตัวอาคาร ดังนั้นกระจกที่ใช้ต้องเป็นกระจกลามิเนต แต่ถ้ากระจกที่ใช้มีลักษณะที่ต้องเจาะรู เพื่อยึดกับอุปกรณ์ กระจกที่ใช้ต้องเป็นกระจกเทมเปอร์ลามิเนต เพื่อให้มีความแข็งแรงกว่ากระจกทั่วไป ขนาด 1.0 x 2.0 เมตร ความหนา 12 มม.

3. ห้องอาบน้ำ (Shower Screen) กระจกบานเปลือยที่ต้องใช้เป็นกระจกเทมเปอร์ ความหนา 8-10 มม. เนื่องจากตัวบานจะต้องบากมุม เพื่อใส่อุปกรณ์ตัวยึด Fitting กระจกเวลาเปิดปิด ดังนั้นบริเวณที่บากกระจก จะต้องมีความแข็งแรงกว่ากระจกธรรมดาทั่วไป

4. กระจกปล่องลิฟท์แก้ว กระจกที่จะใช้งานกับลักษณะการติดตั้ง หากเป็นการติดตั้งแบบเปลือย ควรใช้เป็นกระจกเทมเปอร์ลามิเนต เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ความหนา 16 มม. (8 mm. TP +1.52 PVB + 8 mm. TP) แล้วแต่ขนาดของกระจก ถ้าเป็นแบบเปลือยควรใช้เป็นเฟรมอลูมิเนียม ก็สามารถใช้เป็นกระจกธรรมดาได้